วิธีอ่านงานวิจัย

Photo by cottonbro studio on Pexels.com

การอ่านงานวิจัยหรือบทความทางวิชาการ เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในกระบวนการค้นคว้าวิจัย ที่จำเป็นต้องใช้เวลาและสมาธิเป็นอย่างมาก
ในบทความที่ชื่อว่า “how to read a paper” ได้นำเสนอวิธีการที่น่าสนใจ สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องอ่าน paper เป็นจำนวนมาก

แนวทางการอ่าน 3 รอบ

แนวคิดหลักของบทความดังกล่าวคือใช้แนวทางในการอ่านไม่เกิน 3 รอบ โดยที่แต่ละรอบมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจน แทนที่จะอ่านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ

รอบแรก Quick Scan

รอบแรกเป็นการอ่านเร็วๆ อย่างที่เรียกว่า quick scan เพื่อทำความเข้าใจในภาพกว้างของงานวิจัยนั้น รอบนี้จะเป็นตัวตัดสินด้วยว่า จำเป็นต้องอ่านในรอบต่อๆ ไปอีกหรือไม่ โดยมีจุดที่ต้องอ่านดังนี้

  1. อ่านชื่อบทความ บทคัดย่อ และบทนำ อย่างระมัดระวัง
  2. อ่านเฉพาะ “หัวข้อ” และ “หัวข้อย่อย” แต่ละส่วน โดยไม่ต้องอ่านเนื้อหา
  3. อ่านบทสรุปของงานวิจัย
  4. สำรวจบรรณานุกรมหรือ reference เพื่อหาว่ามีการอ้างอิงงานวิจัยชิ้นอื่นที่เราเคยอ่านมาหรือไม่

รอบแรกนี้อาจจะใช้เวลาสั้นๆ แค่ 5-10 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อเสร็จสิ้นการอ่านรอบแรกแล้ว ผู้อ่านควรจะสามารถตอบคำถาม 5 ประเด็นดังนี้ได้

  • Category: บทความนี้จัดอยู่ในประเภทไหน เป็นการทดลองใหม่ หรือ เป็นการรีวิวงานวิจัยอื่น
  • Context: บริบทของบทความคืออะไร มีงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง แนวคิดหรือทฤษฎีพื้นฐานของงานวิจัยคืออะไร
  • Correctness: สมมติฐานของงานวิจัยน่าเชื่อถือหรือไม่
  • Contributions: งานวิจัยชิ้นนี้จะส่งผลให้เกิด contribution อะไรบ้าง
  • Clarity: งานวิจัยนี้เขียนได้ชัดเจน กระจ่างหรือไม่

เมื่อตอบคำถาม 5 Cs ได้แล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรใช้เวลาอ่านในรอบต่อๆ ไปหรือไม่ ซึ่งหากเราตัดสินใจจะไม่อ่านต่อในรอบต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเพราะว่าหัวข้อนั้นเราไม่สนใจ หรือเรายังมีความรู้แวดล้อมไม่เพียงพอ หรือผู้เขียนงานวิจัยตั้งสมมติฐานไม่เหมาะสม เราก็จะเสียเวลากับงานวิจัยชั้นนั้นเพียงแค่ 5-10 นาทีในรอบ quick scan เท่านั้น

รอบที่สอง อ่านทำความเข้าใจประเด็นหลัก

ในการอ่านรอบที่สองนี้ ให้อ่านเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อหาหลักของงานวิจัย อ่านด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แต่ให้ข้ามรายละเอียดอย่างเช่นการพิสูจน์ต่างๆ โดยอาจจะจดประเด็นหลักๆ หรือหมายเหตุไว้ด้วยในขณะที่อ่าน ซึ่งอาจจะเป็นศัพท์ที่ไม่เข้าใจ หรือประเด็นคำถามที่อาจผุดขึ้นมา

  • ให้ใส่ใจเป็นพิเศษกับรูปภาพ กราฟ แผนภาพ และตารางต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ที่ทำคัญบ่งบอกถึงคุณภาพของงานวิจัยชิ้นนั้นๆ
  • ให้จดหรือตั้งข้อสังเกตถึงบรรณานุกรมที่เกี่ยวข้อง ที่เรายังไม่เคยได้อ่าน ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีมากในการทำความเข้าใจ background และที่มาของงานวิจัยนั้น

การอ่านรอบที่สองนี้อาจจะต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่เมื่อจบรอบที่สองนี้แล้ว เราควรจะสามารถอธิบายสรุปเนื้อหาและประเด็นที่สำคัญของงานวิจัยนี้ได้ ซึ่งการอ่านรอบนี้น่าจะเพียงพอสำหรับหัวข้องานวิจัยที่คุณกำลังให้ความสนใจอยู่ แต่อาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อวิจัยของคุณ

แต่หากงานวิจัยชิ้นนั้นอาจมีส่วนในหัวข้อวิจัยของคุณ หรือคุณมีบทบาทเป็นผู้รีวิว คุณสามารถอ่านต่อในรอบที่ 3 ได้

รอบที่สาม อ่านเพื่อจำลองการวิจัย

เป้าประสงค์หลักของการอ่านงานวิจัยในรอบที่สามคือ เพื่อ “จำลองการทำวิจัยนั้นๆ” นั่นคือตั้งสมมติฐานเหมือนกับผู้เขียน แล้วสร้างงานวิจัยนั้นขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อทำการเปรียบเทียบเนื้อหาในงานวิจัยที่อ่าน กับงานจำลองที่คุณสร้างขึ้นมา จะช่วยให้มองเห็นจุดที่เป็นจุดสำคัญอาทิเช่น จุดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ หรือข้อผิดพลาดและสมมติฐานอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความ
การอ่านรอบที่สามนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ทุกสมมติฐาน ทุกการคำนวณ ซึ่งอาจจะใช้เวลามากถึง 4-5 ชั่วโมง แต่เมื่อจบในรอบที่สามนี้แล้ว คุณจะสามารถเรียบเรียงโครงงสร้างงานวิจัยใหม่นี้ได้จากความจำ สามารถระบุจุดอ่อนจุดแข็งในงานวิจัยนั้นได้ รวมถึงสามารถคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการทดลองหรือการวิเคราะห์ข้อมูล

โอกาส

บ่ายวันอาทิตย์ที่ศูนย์อาหารภายในห้างสรรพสินค้ากลางกรุง ขณะที่ผมกำลังทานอาหารกลางวันอยู่คนเดียว จู่ๆ ก็มีเสียงเรียกทักขึ้นมาว่า

“พี่ฮงใช่มั้ยครับ สวัสดีครับ จำผมได้หรือเปล่าครับพี่”

ผมเงยหน้าขึ้นมาก็พบกับชายหนุ่มหน้าตาดี ผิวเข้ม ตัวสูง ยืนยิ้มกว้างอยู่ข้างๆ หญิงสาวคนหนึ่ง ผมจำเขาได้ทันที

“อ้าวป็อก จำได้สิ จะลืมกันได้ยังไง ไปยังไงมายังไงละนี่ ไม่ได้เจอกันจะสิบปีได้แล้วมั้ง”

“ดีใจจังที่ได้เจอพี่ ผมสบายดีครับ พี่ครับ นี่น้ำหวานแฟนผมครับ ตอนนี้ท้องได้ห้าเดือนแล้ว ผมกำลังจะเป็นพ่อคนแล้วครับพี่”

น้ำเสียงของป็อกทั้งดีใจภูมิใจระคนตื่นเต้น ป็อกแนะนำผมให้ภรรยาแล้วก็บอกว่า

“นี่ไงพี่ฮง เจ้านายคนแรกที่พี่เล่าให้ฟังบ่อยๆ เป็นคนแรกที่ให้โอกาสพี่เข้าทำงาน”

น้ำหวานยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ยิ้มอายๆ และขอตัวไปเดินซื้อของ ปล่อยให้เรานั่งคุยกันสองคน

ตอนนี้ป็อกอายุยังไม่ถึงสามสิบห้า แต่เป็นผู้จัดการด้านไอทีของบริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง รายได้ดี มีบ้านมีรถและกำลังเริ่มสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เรียกได้ว่ามีชีวิตการงานที่กำลังรุ่งโรจน์เลยทีเดียว


ป็อกเติบโตเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมเคยรู้จักเขาเมื่อสิบกว่าปีก่อนจนแทบไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่เรื่องรูปร่างหน้าตา แต่เป็นบุคลิกท่าทาง น้ำเสียง วิธีการพูด ที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง

ผมนึกถึงเจ้าป็อกในอดีต เป็นเด็กหนุ่มที่ผมสัมภาษณ์และสอนงานมาช่วงสิบกว่าปีก่อน เป็นเด็กจากต่างจังหวัด จำไม่ได้แน่นอนว่าชลบุรีระยองหรือจันทบุรีนี่แหละ เรียนหนังสือลุ่มๆ ดอนๆ เพราะฐานะยากจน ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พอเรียนจบเริ่มทำงานก็มีภาระต้องส่งเสียน้องช่วยพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ดิ้นรนกระเสือกกระสนเปลี่ยนงานหลายครั้งเพื่อให้ได้รายได้ที่ดีขึ้น

ผมเป็นคนสัมภาษณ์ป็อกเข้าทำงานที่บริษัท ในตำแหน่งไอทีซัพพอร์ทที่คอยทำงานกระจุกกระจิก ประเภทซ่อมเครื่อง ล้างไวรัสให้คนในออฟฟิศอะไรทำนองนั้น ตำแหน่งนั้นเป็นตำแหน่งพนักงานเอ้าท์ซอร์ส

ป็อกไม่ได้เก่งโดดเด่นอะไรเลย เทียบกับผู้สมัครคนอื่นที่จบการศึกษามาด้วยคะแนนที่ดีกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจในตัวป็อกก็คือความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่และญาติๆ ที่คอยส่งเสีย ความรับผิดชอบต่อครอบครัวในฐานะพี่คนโตที่มีน้องๆ ความมานะพยายามดิ้นรนขวนขวายมากกว่าคนอื่นๆ ประโยคที่ผมจำได้ตอนตัดสินใจรับป็อกเข้าทำงานก็คือ “พี่ครับ ผมขอโอกาสเข้าทำงานที่นี่ซักครั้งเถอะครับ ผมจะทำให้เต็มที่”

บริษัทที่เราพบกันตอนนั้นเป็นบริษัทต่างชาติที่มีสาขาทั่วโลก มีชื่อเสียงว่าจ่ายผลตอบแทนดี และเป็นที่ทำงานในฝันของคนหางานในยุคนั้น ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการทำงาน พนักงานมากกว่าครึ่งจบการศึกษาจากต่างประเทศ และเกือบทั้งหมดจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เกรดดีๆ กันทั้งนั้น หากไม่ใช่เพราะเป็นตำแหน่งเล็กๆ และเป็นพนักงานเอ้าท์ซอร์ส ป็อกก็คงมีคู่แข่งคนอื่นอีกมากจนผมไม่สามารถให้โอกาสป็อกได้

ผมตัดสินใจเสี่ยงให้โอกาสรับป็อกเข้ามาทำงาน ในสองปีแรกผมเป็นเจ้านายโดยตรง แทบจะเรียกได้ว่าต้องเข็นกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษและทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เก่งกาจมากมายนัก แต่ด้วยความมุมานะ และตั้งใจพยายามมากกว่าคนอื่นๆ ผมเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาผมย้ายไปรับตำแหน่งที่ต่างประเทศอยู่ 3-4 ปี ต้องโอนหน่วยงานให้ผู้จัดการคนอื่นดูแล พอกลับมาก็ได้ทราบข่าวว่าป็อกลาออกไปแล้ว หลังจากพยายามขอสอบเลื่อนขั้นจากพนักงานเอ้าท์ซอร์สเป็นพนักงานประจำไม่สำเร็จถึงสองครั้ง และเราไม่ได้พบกันอีกเลยตั้งแต่นั้นมา


ป็อกกับน้ำหวานลากลับไปแล้ว ผมยังนั่งอยู่ที่โต๊ะเดิม ปลื้มปริ่มใจอยู่กับความดีใจที่เจอป็อก และได้ทราบว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะประโยคที่ทำให้ผมภูมิใจและเก็บมาคิดสอนตัวเองด้วยก็คือ

“พี่รู้มั้ย ตอนที่ผมสอบเลื่อนขั้นไม่ได้ครั้งที่สองน่ะ ผมเสียใจมาก คิดอยู่แต่ว่าทำไมเขาไม่ให้โอกาสผมบ้าง แต่แล้วก็นึกถึงคำสอนของพี่ได้ ตอนที่ผมลาออกจากที่เดิมน่ะ ผมไม่ได้โกรธไม่ได้เสียใจนะครับ ผมลาออกไปหางานใหม่ ที่ดีกว่าเดิม ตำแหน่งสูงขึ้น เงินเดือนดีขึ้น ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า เราจะมัวรอให้คนอื่นให้โอกาสเราทุกครั้งคงไม่ได้ เราต้องรู้จักสร้างโอกาสของเราเอง

Thoughts about planning

“Plans are useless, but Planning is Indispensable.”

วลีนี้ผมอ่านเจอครั้งแรกในหนังสือ Goals! ของ Brian Tracy แล้วก็ Highlight เอาไว้ใน Kindle ผ่านมาหลายปี พอเริ่มใช้ Readwise เจ้าวลีนี้ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นในตอนรีวิว

ตอนแรกก็ไม่ได้เข้าใจอะไรมากนักหรอก แต่ได้พบเห็นหลายๆ เหตุการณ์ก็ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูที่มาของ Quote นี้ใหม่ ซึ่งมันมาจากนายพล EISENHOWER ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และทำให้ชอบวลีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยปกติผมเป็นคนวางแผนเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นแผนการยิ่งใหญ่อะไรมากมายนักหรอก แต่มีการคิดล่วงหน้าในแทบจะทุกเรื่องทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

การวางแผนมันคือการพาตัวเองเดินล่วงหน้าไปในอนาคต วาดภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้น คาดหวังเรื่องราวเหตุการณ์และผู้คนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรืออยากให้อะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็คิดเอาว่า ต้องทำอะไรในตอนไหน ให้เหตุการณ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นไปในแนวทางที่เราต้องการ

จำไม่ได้เหมือนกันว่าเริ่มนิสัยนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เห็นนิสัยนี้ของตัวเองตอนจะแต่งงาน ตอนนั้นอายุ 24 เพิ่งเรียนจบ และสมัยนั้นไม่มีอาชีพ wedding planner ต้องทำทุกอย่างเอง มันเยอะหลายอย่างก็เลยจดไว้ใน organizer ที่เป็นเล่ม

ทำมาจนเป็นนิสัยกว่า 30 ปีแล้ว ตอนนี้กลายเป็นคนวางแผนแทบจะทุกอย่างอยู่ในหัว จะออกจากบ้านกี่โมง แวะที่ไหนบ้าง กินอาหารอะไร จะคุยกับใครเรื่องอะไรบ้าง จะพูดอย่างไรในที่ประชุม 80-90% อยู่ในหัวก่อนเสมอ

และบ่อยครั้งมาก ที่สิ่งที่คิด ที่คาดไว้ ไม่ได้เป็นไปตามแผน บางทีก็ตัวเราเอง ทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ บางทีสถานการณ์เปลี่ยนไปไม่เหมือนกับที่คาด บางทีคนอื่นรอบตัวไม่ได้ทำตัวอย่างที่เราคาดเอาไว้ สารพัดจะเกิด ไม่รู้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แต่ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป

การวางแผนเป็นประจำ พบกับเหตุการณ์ที่มัน “ไม่เป็นไปตามแผน” เป็นประจำ มันสร้างภูมิคุ้มกัน มันทำให้เราไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป บางทีก็คิดแผนสำรองเผื่อเอาไว้เสียด้วย หรือไม่ก็ “เผื่อ” เอาไว้หลายรูปแบบ เผื่อเวลา เผื่อเงิน เผื่อความรู้สึก

การวางแผน ทำให้เราไม่เครียด ถึงแม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็ตาม

เข้มงวดกับตัวเอง ผ่อนปรนกับคนอื่น

แน่นอนว่าการที่เป็นคนวางแผนไปกับทุกเรื่องในชีวิต มันคงทำให้เครียดน่าดู ก็อาจจะจริง เอาเป็นว่าเป็นคนจริงจังกับหลายๆ เรื่องในชีวิต

พออายุเพิ่มมากขึ้น ก็ได้เรียนรู้อีก 2 อย่างคือ

  • แต่ละเรื่องในชีวิตมีความสำคัญไม่เท่ากัน เราต้องไม่ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต การเดินทางไปเยี่ยมบ้านภรรยาที่ต่างจังหวัด ถึงแม้เราจะกำหนดเวลาเอาไว้แล้ว แต่จะล่าช้าโอ้เอ้ไปบ้างซัก 2-3 ชั่วโมง ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ความยืดหยุ่นในแผนมันมีมากขึ้นในใจของเราเอง
  • เข้มงวดกับตัวเอง ผ่อนปรนกับคนอื่น ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเหมือนเรา มีนิสัยเหมือนกันกับเรา แม้แต่คู่ชีวิตเราเอง เราสามารถเข้มงวดกับตัวเองได้มากเท่าที่ต้องการ แต่เราต้องผ่อนปรนกับผู้อื่น อย่าไปหงุดหงิดกับเขา เพียงเพราะว่าเขาไม่ทำตามแผนที่เราวางไว้ บ่อยครั้งที่ผมพบว่า การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น มีความสำคัญไม่แพ้ (และหลายครั้งมาก สำคัญกว่า) การบรรลุตามแผนเสียอีก

หาจุดสมดุลของตัวเอง

หวังว่าโพสต์นี้จะบ่งบอกความคิดของคนคนหนึ่งได้บ้าง ใครที่มีคนรู้จักเป็นนักวางแผน คนที่มักเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังกับเรื่องต่างๆ เขาอาจจะเป็นคนอย่างผมก็ได้ หรือบางคนอาจจะเป็นคนตรงกันข้ามสุดชีวิต คนที่ชอบทำอะไรแบบชิลด์ๆ แบบไม่ต้องเตรียมอะไรมาก ก็เป็นแนวคิดอีกแบบหนึ่ง

ขอแค่เข้าใจตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน เข้าใจคนใกล้ตัวเรา และหาจุดสมดุลของตัวเอง จุดสมดุลของความสัมพันธ์ในแต่ละเรื่อง ก็น่าจะทำให้เราหาความสุขในแต่ละวันได้ไม่ยาก

The pareto principle in daily life

Image source: THE 80/20 RULE: WHAT IS THE PARETO PRINCIPLE AND HOW TO USE IT?

Pareto Principle หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “กฎ 80-20” เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันมากในแวดวงธุรกิจ แนวคิดก็ง่ายๆ ว่าผลลัพธ์ส่วนใหญ่ 80% เกิดจากปัจจัยเพียงแค่ 20% เท่านั้น

แนวคิดนี้มีผลมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยการให้ความสำคัญกับกิจกรรมสำคัญแค่ 20% ที่จะสร้างผลลัพธ์ส่วนใหญ่ได้ แล้วทุ่มเวลากับทรัพยากรเข้าไปที่ตรงนั้น

หลักการนี้ก็สามารถเอามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ในหลายรูปแบบเหมือนกัน

  • ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องประดับ และอื่นๆ ในชีวิตเรา มีแค่ 20% เท่านั้นที่เราใช้เป็นส่วนใหญ่
  • เวลาของเราที่หมดไปกับการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ 80% ให้คุณค่ากับชีวิตเราแค่ 20% เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน แค่ 20% ของสิ่งที่เราเสพ มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับความคิดเราได้ถึง 80%
  • การใช้เวลาของเรากับ “คนสำคัญ” รอบตัว มีแค่ 20% ของเวลาเท่านั้น ที่มันจะส่งผลกระทบต่อ 80% ของคุณภาพความสัมพันธ์นั้น

ความยากมันอยู่ตรง ทำอย่างไรเราจะ “เลือก” ใช้เวลาและพลังงานของเราให้กับสิ่งที่เป็น 20% ที่จะสร้างความสุขและเติมเต็มให้กับชีวิตเราได้มากถึง 80%

ต้อง “ฉลาดเลือก” ในทุกช่วงจังหวะเวลา

Entering the golden years

Life Satisfaction and Age from Flowing Data

เราพึงพอใจกับชีวิตแค่ไหน?

คำถามที่ไม่รู้จะหาคำตอบอย่างไร เพราะรู้แต่ความรู้สึกตัวเอง ไปเจอ Life Satisfaction and Age จากเว็บ Flowing Data ที่เขาดึงข้อมูลจากแบบสำรวจ American Time Use survey

ผมโน้มเอียงไปทางเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้นะครับ ตอนนี้กำลังอยู่ใน stage ที่เรียกว่า Entering the golden years เป็นช่วงที่ยังไม่เกษียณ แต่คุ้นชินกับการทำงานและความรับผิดชอบต่างๆ ในชีวิตแล้ว นิ่งมากขึ้นกับเรื่องต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาหา รับมือแต่ละเรื่องด้วยสติมากขึ้น

ตั้งหน้าตั้งตารอที่จะมีความสุขกับชีวิตเพิ่มขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป

Negative Motivation

Photo by Alex Green on Pexels.com

คุณเชื่อในการสร้างแรงจูงใจทางลบ โดยการเยาะเย้ย ถากถาง ดูหมิ่น หรือไม่
คุณเชื่อหรือเปล่าว่า ใครบางคน อาจจะใช้คำพูดดูถูกดูแคลน มาเป็นแรงผลักดัน ให้มุ่งมั่นทำอะไรบางอย่างเพื่อต้องการลบล้างคำสบประมาทนั้นหรือเปล่า

ผมไม่เชื่อครับ

ผมไม่เชื่อว่าการสร้างแรงกระตุ้นทางลบ หรือ negative motivation เหล่านั้น จะเป็นพลังที่ดี จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนส่วนใหญ่ มุมานะ ฮึดสู้ และใส่ความพยายามลงไป เพียงเพื่อจะเอาชนะถ้อยคำดูถูกและสบประมาทเหล่านั้นได้

อาจเป็นได้ ที่จะมีใคร “บางคน” และใน “บางสถานการณ์” ที่ประสบความสำเร็จได้ โดยมี negative motivation เป็นเครื่องกระตุ้น หล่อเลี้ยงให้เกิดความมานะพยายาม ไม่ยอมแพ้

แต่คงไม่ใช่สำหรับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่สำหรับสถานการณ์โดยทั่วไป

คำพูดดูหมิ่น สบประมาท เยาะเย้ย มันสร้างรอยแผลไว้ในใจผู้รับฟัง และเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้ฟังจะเจ็บปวดและสะเทือนกับคำพูดลบๆ เหล่านั้นมากน้อยเพียงใด

ผู้ฟังอาจจะเกิดแรงใจ ฮึดสู้ขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ละ? ถ้าคำพูดเหล่านั้นตอกย้ำ ซ้ำเติม บั่นทอนความมั่นใจของผู้ฟังไป เสี่ยงเกินไปหรือเปล่า

แต่ที่แน่ๆ ผู้ฟังจะไม่รู้สึกดีกับผู้พูดแน่นอน ไม่ว่าจะพูดด้วยเจตนาใด ด้วยความหวังดีอยากให้คนฟังฮึดใหม่ หรือจริงๆ แล้วก็คิดดูแคลนคนฟังจริงๆ

อย่าพยายามกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจแบบ negative motivation เลยครับ

ถ้าหวังดี ก็ให้กำลังใจ เชียร์กันตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม

ข้อคิดจากทฤษฎีกบต้ม

TED Talk เรื่อง “What frogs in hot water can teach us about thinking again” โดย Adam Grant เล่าเรื่องทฤษฎีกบต้มที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาก่อนแล้ว

ผมเองก็เคยได้ยินเรื่องทฤษฎกบต้มมาหลายปีแล้วเหมือนกัน เนื้อหาใหญ่ๆ ก็คือว่า ถ้าเราเอากบใส่ในหม้อต้มน้ำเดือด กบจะกระโดดหนีออกมาทันที แต่ถ้าเอากบใส่ไว้ในหม้อที่น้ำยังแค่อุ่นๆ แล้วค่อยๆ ต้ม กบจะตาย ข้อคิดจากเรื่องนี้ก็คือเรื่องของการรับรู้สถานการณ์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

ตอนที่เลือกแปล subtitle ของ TED Talk เรื่องนี้ ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะคิดเอาว่าประเด็นของเรื่องก็คงไม่ต่างจากที่เคยได้ยินมาก่อนแล้ว แต่เลือกแปลเพราะผมเป็นแฟน Adam Grant มาหลายปีแล้วจาก TED Talk ของเขาเรื่อง The surprising habits of original thinkers

แต่พอนั่งฟังเรื่องราวของทฤษฎีกบต้มในฉบับของ Adam Grant แล้ว ต้องบอกว่าประทับใจในหลายๆ แง่มุม

อย่างแรกเลยคือความเป็นนักเล่าเรื่อง เขาเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าอย่างน่าฟังมาก บอกได้สั้นๆ ว่าสนุกครับ

อย่างที่สองคือประเด็นของ Adam ลงลึกและไปไกลกว่าสถานการณ์รอบตัวเรา ความสามารถในการ rethink situation หรือประเมินสถานการณ์ใหม่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานการณ์ภายนอก

แต่มันกินความครอบคลุมไปจนถึงเรื่องส่วนตัวมากๆ อัตลักษณ์ของเรา ตัวตนของเรา วิธีการทำงานวิธีคิด Passion ของเรา เป้าหมายของเรา เรียกได้ว่า ฟังจบก็ต้องมานั่งคิดต่อเลย

และสุดท้ายคือ hook ท้ายเรื่อง ซึ่งขออุบไว้ก่อนไปฟังกันเอาเองแล้วกัน


ซับภาษาไทยของเรื่องนี้ผมยังแปลอยู่นะครับ (เพิ่งเริ่มเมื่อวานนี้เอง) กว่าจะผ่านกระบวนการ review & approve คงพักใหญ่ๆ เลย ระหว่างนี้ก็ดู sub Eng กันไปก่อน Highly recommend นะครับเรื่องนี้

To live; to love; to learn; and to leave a legacy

หนึ่งใน Quote ที่ผมชอบและประทับใจ และใช้เตือนตัวเองอยู่ทุกบ่อยมากว่า 20 ปีแล้ว หลายๆ เดือนก็หยิบเอาวลีนี้มาเขียนเตือนตัวเองใน journal ส่วนตัวเสียทีหนึ่ง

จำโควทนี้ได้จากปกในของหนังสือ “First Things First” ที่ซื้อครั้งแรกเพราะเข้าใจว่ามันคือหนังสือเกี่ยวกับ time management อ่านจบแล้วถึงเข้าใจได้ว่า มันไม่ใช่เวลาที่เราต้องบริหาร มันคือการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต และวลีเหล่านี้ ช่วยเตือนเราว่า อะไรคือสิ่งสำคัญ

ความเร็วไม่ได้สำคัญเท่ากับทิศทาง ก่อนที่เราจะเริ่มวิ่ง หรือแม้แต่ละเริ่มก้าวเดิน เช็คให้ชัวร์ก่อนว่า เราตั้งเข็มทิศของเราไว้ถูกต้องแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะรีบออกวิ่ง หากยังไม่แน่ใจว่าจุดหมายปลายทางนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงหรือไม่

โควทนี้สะท้อนถึงความต้องการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ในสี่มิติที่แตกต่างกัน

  • To live ความต้องการทางกายภาพ กินอิ่ม นอนหลับ สุขภาพแข็งแรง หรืออาจจะความสุขทางกายอื่นๆ เช่น เดินทางท่องเที่ยว พักผ่อน รื่นเริง แต่มันก็เป็นเพียงความสุขสั้นๆ ชั่วคราวแล้วก็จางหายไป
  • To love ลำดับต่อไปคือความต้องการทางอารมณ์ ต้องการความรัก เป็นส่วนหนึ่ง ครอบครัว การดูแลเอาใจใส่ ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะมีความหมายมากกว่าความสุขทางกาย
  • To learn คือความต้องการทางสมองและจิตใจ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการของมนุษย์โดยธรรมชาติ ความรู้สึกที่ว่าได้รู้ ได้เข้าใจ และได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงสมองและจิตใจ
  • To leave a legacy ความต้องการขั้นสูงสุดน่าจะเรียกได้ว่า เป็น life purpose หรือ meaning ก็เป็นได้ มันคือความอยากจะ “leave something behind” อยากสร้างประโยชน์ตกทอดไว้

ผมมักจะถามตัวเองในสองประเด็นหลังอยู่เสมอ ถามอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับคนที่ต้องคอยตรวจสอบเข็มทิศอยู่ตลอดเวลา เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ เราเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น เราสร้างอะไรอยู่ และเรากำลังทิ้งอะไรไว้เป็นอนุสรณ์เบื้องหลัง เมื่อเราลาโลกนี้ไป

Understand intention, not just follow instruction

ในโลกที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องปรับตัวให้เข้าใจเจตจำนงของงานเป็นเป้าหมายหลัก

151124-N-CN059-004“151124-N-CN059-004” by U.S. Department of Defense Current Photos is licensed under CC PDM 1.0

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานกับน้องๆ ที่ยังอ่อนประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งเด็กจบใหม่ นักศึกษาฝึกงานหรือสหกิจ แล้วพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาในการปรับตัว เมื่อพบอุปสรรคในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

คนที่ปรับตัวได้ดีคือคนที่เข้าใจจุดมุ่งหมายหรือ intention ของงาน มากกว่าคนที่เพียงแค่ทำงานตาม instruction


เมื่อเรามอบหมายงานให้คนที่มีประสบการณ์ในงานนั้นๆ น้อย เรามักจะระบุรายละเอียดของงานค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เรียกว่าอธิบายอย่างละเอียดว่าผลลัพธ์ที่ต้องการมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ส่วนเรื่องวิธีการว่า ทำอย่างไรนั้น ขึ้นกับเนื้องาน บางทีเราก็ลองทำให้ดู (demo) หรือถ้าเป็นครั้งแรกก็แทบจะจับมือทำด้วยกันเลย (hand-hold)

แน่นอนว่า เมื่อลงมือทำพบปัญหาอุปสรรคอะไรบางอย่าง หรือสถานการณ์เปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน น้องๆ จะปรับตัวอย่างไร ผมสังเกตเห็นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

แบบแรกคือ ยึด instruction เป็นหลัก โจทย์มาแบบนี้ ก็ต้องทำแบบนี้ กลุ่มนี้คือคนที่มีความตั้งใจดี แรงฮึดเยอะ ลุยทำงานถึงแม้มันจะยากมากกว่าเดิม

กลุ่มที่สอง จะขอกลับมาถามเป็นระยะๆ ไม่ค่อยตัดสินใจเอง ต้องดูแลคอยตอบคำถามอย่างใกล้ชิด

กลุ่มที่สาม improvise ปรับตัวตามสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาดี บางครั้งก็เตลิดออกนอกลู่นอกทางกันไปก็มี ปัจจัยสำคัญที่กลุ่มนี้จะทำงานได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า น้องๆ เข้าใจ “WHY” ได้ดีเพียงใด


Amazon.com: Extreme Ownership: How U.S. Navy SEALs Lead and Win eBook: Willink, Jocko, Babin, Leif

ในหนังสือ Extreme Ownership ผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตหน่วยซีล เล่าให้ฟังถึงภารกิจที่หน่วยซีลเข้าไปในตัวอาคารที่มีความเสี่ยง เป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า และไม่สามารถวิทยุกลับมาถามผบ.ได้ แต่ละคนต้องตัดสินใจ improvise เองเมื่อสถานการณ์มาถึง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ภารกิจสำเร็จได้คือ “การเข้าใจ commander’s intent” ไม่ใช่แค่เพียงปฎิบัติภารกิจตาม instruction


หากจะประยุกต์ใช้แนวคิดจากหนังสือมาใช้ในการทำงาน เราควรเริ่มด้วยการอธิบาย “Commander’s Intent” ให้ชัดเจน และที่สำคัญหากงานเกี่ยวข้องกับลูกค้า การเข้าใจ Customer’s Need ก็จะมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้ง commander’s intent และ customer’s need ประกอบกันเป็น WHY

เมื่อคนทำงานเข้าใจ WHY จริงๆ แล้ว เขาจะสามารถปรับเปลี่ยน HOW หรือแม้กระทั่งเปลี่ยน WHAT ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ โดยไม่ต้องกลับมาถามกันใหม่ๆ ทุกครั้งที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

นอกนั้นแล้ว การเข้าใจ WHY จะเปิดโอกาสรับแนวคิดการทำงานใหม่ๆ ให้น้องๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่มากขึ้น

บทบาทของหัวหน้า คือการอธิบายที่มาให้ชัดเจน ความต้องการของลูกค้าคืออะไร intention ของผู้มอบหมายงานคืออะไร

สำหรับน้องๆ ให้ฝึกถาม “WHY” บ่อยๆ ถามจนเราเข้าใจและตระหนักถึงทั้ง customer’s need และ commander’s intent หลังจากนั้นใช้ทักษะและจินตนาการในการแก้ไขสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


การทำความเข้าใจ intention ไม่เพียงแค่ทำตาม instruction เป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่ง จะเรียกว่าเป็น soft skill ก็คงได้ สำหรับทั้งคนทำงานและคนสั่งงาน หากเราเชียวชาญในทักษะนี้ การทำงานก็คงราบรื่นประสบผลสำเร็จด้วยดีเป็นส่วนใหญ่

มรณานุสติ (อีกครั้ง)

candle
ได้ยินข่าวการจากไปของเพื่อนร่วมงานชาวอินเดีย และน้องโรงเรียนมัธยม ทั้งคู่อายุยังไม่มาก แค่ 40 ต้นๆ แต่จากไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจทั้งคู่ ทั้งคู่เป็นที่รักของเพื่อนๆ และคนที่ได้มีโอกาสรู้จัก ได้ทำงานใกล้ชิดด้วย เห็นได้จากความรู้สึก ความระลึกถึงที่ใครต่อใครพากันพูดถึง

เศร้า แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ ขอให้ครอบครัวของน้องและของเพื่อน จงเข้มแข็ง คนที่จากก็จากไปแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่ความดีงาม ความประทับใจ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ยังมีภาระที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป