The pareto principle in daily life

Image source: THE 80/20 RULE: WHAT IS THE PARETO PRINCIPLE AND HOW TO USE IT?

Pareto Principle หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “กฎ 80-20” เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันมากในแวดวงธุรกิจ แนวคิดก็ง่ายๆ ว่าผลลัพธ์ส่วนใหญ่ 80% เกิดจากปัจจัยเพียงแค่ 20% เท่านั้น

แนวคิดนี้มีผลมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยการให้ความสำคัญกับกิจกรรมสำคัญแค่ 20% ที่จะสร้างผลลัพธ์ส่วนใหญ่ได้ แล้วทุ่มเวลากับทรัพยากรเข้าไปที่ตรงนั้น

หลักการนี้ก็สามารถเอามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ในหลายรูปแบบเหมือนกัน

  • ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องประดับ และอื่นๆ ในชีวิตเรา มีแค่ 20% เท่านั้นที่เราใช้เป็นส่วนใหญ่
  • เวลาของเราที่หมดไปกับการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ 80% ให้คุณค่ากับชีวิตเราแค่ 20% เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน แค่ 20% ของสิ่งที่เราเสพ มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับความคิดเราได้ถึง 80%
  • การใช้เวลาของเรากับ “คนสำคัญ” รอบตัว มีแค่ 20% ของเวลาเท่านั้น ที่มันจะส่งผลกระทบต่อ 80% ของคุณภาพความสัมพันธ์นั้น

ความยากมันอยู่ตรง ทำอย่างไรเราจะ “เลือก” ใช้เวลาและพลังงานของเราให้กับสิ่งที่เป็น 20% ที่จะสร้างความสุขและเติมเต็มให้กับชีวิตเราได้มากถึง 80%

ต้อง “ฉลาดเลือก” ในทุกช่วงจังหวะเวลา

ข้อคิดจากทฤษฎีกบต้ม

TED Talk เรื่อง “What frogs in hot water can teach us about thinking again” โดย Adam Grant เล่าเรื่องทฤษฎีกบต้มที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาก่อนแล้ว

ผมเองก็เคยได้ยินเรื่องทฤษฎกบต้มมาหลายปีแล้วเหมือนกัน เนื้อหาใหญ่ๆ ก็คือว่า ถ้าเราเอากบใส่ในหม้อต้มน้ำเดือด กบจะกระโดดหนีออกมาทันที แต่ถ้าเอากบใส่ไว้ในหม้อที่น้ำยังแค่อุ่นๆ แล้วค่อยๆ ต้ม กบจะตาย ข้อคิดจากเรื่องนี้ก็คือเรื่องของการรับรู้สถานการณ์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

ตอนที่เลือกแปล subtitle ของ TED Talk เรื่องนี้ ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะคิดเอาว่าประเด็นของเรื่องก็คงไม่ต่างจากที่เคยได้ยินมาก่อนแล้ว แต่เลือกแปลเพราะผมเป็นแฟน Adam Grant มาหลายปีแล้วจาก TED Talk ของเขาเรื่อง The surprising habits of original thinkers

แต่พอนั่งฟังเรื่องราวของทฤษฎีกบต้มในฉบับของ Adam Grant แล้ว ต้องบอกว่าประทับใจในหลายๆ แง่มุม

อย่างแรกเลยคือความเป็นนักเล่าเรื่อง เขาเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าอย่างน่าฟังมาก บอกได้สั้นๆ ว่าสนุกครับ

อย่างที่สองคือประเด็นของ Adam ลงลึกและไปไกลกว่าสถานการณ์รอบตัวเรา ความสามารถในการ rethink situation หรือประเมินสถานการณ์ใหม่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานการณ์ภายนอก

แต่มันกินความครอบคลุมไปจนถึงเรื่องส่วนตัวมากๆ อัตลักษณ์ของเรา ตัวตนของเรา วิธีการทำงานวิธีคิด Passion ของเรา เป้าหมายของเรา เรียกได้ว่า ฟังจบก็ต้องมานั่งคิดต่อเลย

และสุดท้ายคือ hook ท้ายเรื่อง ซึ่งขออุบไว้ก่อนไปฟังกันเอาเองแล้วกัน


ซับภาษาไทยของเรื่องนี้ผมยังแปลอยู่นะครับ (เพิ่งเริ่มเมื่อวานนี้เอง) กว่าจะผ่านกระบวนการ review & approve คงพักใหญ่ๆ เลย ระหว่างนี้ก็ดู sub Eng กันไปก่อน Highly recommend นะครับเรื่องนี้

Understand intention, not just follow instruction

ในโลกที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องปรับตัวให้เข้าใจเจตจำนงของงานเป็นเป้าหมายหลัก

151124-N-CN059-004“151124-N-CN059-004” by U.S. Department of Defense Current Photos is licensed under CC PDM 1.0

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานกับน้องๆ ที่ยังอ่อนประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งเด็กจบใหม่ นักศึกษาฝึกงานหรือสหกิจ แล้วพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาในการปรับตัว เมื่อพบอุปสรรคในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

คนที่ปรับตัวได้ดีคือคนที่เข้าใจจุดมุ่งหมายหรือ intention ของงาน มากกว่าคนที่เพียงแค่ทำงานตาม instruction


เมื่อเรามอบหมายงานให้คนที่มีประสบการณ์ในงานนั้นๆ น้อย เรามักจะระบุรายละเอียดของงานค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เรียกว่าอธิบายอย่างละเอียดว่าผลลัพธ์ที่ต้องการมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ส่วนเรื่องวิธีการว่า ทำอย่างไรนั้น ขึ้นกับเนื้องาน บางทีเราก็ลองทำให้ดู (demo) หรือถ้าเป็นครั้งแรกก็แทบจะจับมือทำด้วยกันเลย (hand-hold)

แน่นอนว่า เมื่อลงมือทำพบปัญหาอุปสรรคอะไรบางอย่าง หรือสถานการณ์เปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน น้องๆ จะปรับตัวอย่างไร ผมสังเกตเห็นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

แบบแรกคือ ยึด instruction เป็นหลัก โจทย์มาแบบนี้ ก็ต้องทำแบบนี้ กลุ่มนี้คือคนที่มีความตั้งใจดี แรงฮึดเยอะ ลุยทำงานถึงแม้มันจะยากมากกว่าเดิม

กลุ่มที่สอง จะขอกลับมาถามเป็นระยะๆ ไม่ค่อยตัดสินใจเอง ต้องดูแลคอยตอบคำถามอย่างใกล้ชิด

กลุ่มที่สาม improvise ปรับตัวตามสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาดี บางครั้งก็เตลิดออกนอกลู่นอกทางกันไปก็มี ปัจจัยสำคัญที่กลุ่มนี้จะทำงานได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า น้องๆ เข้าใจ “WHY” ได้ดีเพียงใด


Amazon.com: Extreme Ownership: How U.S. Navy SEALs Lead and Win eBook: Willink, Jocko, Babin, Leif

ในหนังสือ Extreme Ownership ผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตหน่วยซีล เล่าให้ฟังถึงภารกิจที่หน่วยซีลเข้าไปในตัวอาคารที่มีความเสี่ยง เป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า และไม่สามารถวิทยุกลับมาถามผบ.ได้ แต่ละคนต้องตัดสินใจ improvise เองเมื่อสถานการณ์มาถึง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ภารกิจสำเร็จได้คือ “การเข้าใจ commander’s intent” ไม่ใช่แค่เพียงปฎิบัติภารกิจตาม instruction


หากจะประยุกต์ใช้แนวคิดจากหนังสือมาใช้ในการทำงาน เราควรเริ่มด้วยการอธิบาย “Commander’s Intent” ให้ชัดเจน และที่สำคัญหากงานเกี่ยวข้องกับลูกค้า การเข้าใจ Customer’s Need ก็จะมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้ง commander’s intent และ customer’s need ประกอบกันเป็น WHY

เมื่อคนทำงานเข้าใจ WHY จริงๆ แล้ว เขาจะสามารถปรับเปลี่ยน HOW หรือแม้กระทั่งเปลี่ยน WHAT ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ โดยไม่ต้องกลับมาถามกันใหม่ๆ ทุกครั้งที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

นอกนั้นแล้ว การเข้าใจ WHY จะเปิดโอกาสรับแนวคิดการทำงานใหม่ๆ ให้น้องๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่มากขึ้น

บทบาทของหัวหน้า คือการอธิบายที่มาให้ชัดเจน ความต้องการของลูกค้าคืออะไร intention ของผู้มอบหมายงานคืออะไร

สำหรับน้องๆ ให้ฝึกถาม “WHY” บ่อยๆ ถามจนเราเข้าใจและตระหนักถึงทั้ง customer’s need และ commander’s intent หลังจากนั้นใช้ทักษะและจินตนาการในการแก้ไขสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


การทำความเข้าใจ intention ไม่เพียงแค่ทำตาม instruction เป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่ง จะเรียกว่าเป็น soft skill ก็คงได้ สำหรับทั้งคนทำงานและคนสั่งงาน หากเราเชียวชาญในทักษะนี้ การทำงานก็คงราบรื่นประสบผลสำเร็จด้วยดีเป็นส่วนใหญ่

มรณานุสติ (อีกครั้ง)

candle
ได้ยินข่าวการจากไปของเพื่อนร่วมงานชาวอินเดีย และน้องโรงเรียนมัธยม ทั้งคู่อายุยังไม่มาก แค่ 40 ต้นๆ แต่จากไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจทั้งคู่ ทั้งคู่เป็นที่รักของเพื่อนๆ และคนที่ได้มีโอกาสรู้จัก ได้ทำงานใกล้ชิดด้วย เห็นได้จากความรู้สึก ความระลึกถึงที่ใครต่อใครพากันพูดถึง

เศร้า แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ ขอให้ครอบครัวของน้องและของเพื่อน จงเข้มแข็ง คนที่จากก็จากไปแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่ความดีงาม ความประทับใจ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ยังมีภาระที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป

คุณภาพชีวิต ขึ้นอยู่กับคุณภาพของความสัมพันธ์

เริ่มต้นปี 2016 ด้วย TED Talk ที่เอาไว้เตือนตัวเองว่า เรากำลังเดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ข้อคิดสำคัญก็คือในระยะยาวแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตที่มีความสุข ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่ชื่อเสียง แต่คือ คุณภาพของความสัมพันธ์ เน้นคำว่า “คุณภาพ” ไม่ใช่แค่ปริมาณ

 

สอนไม่จำ

ช่วงนี้มีปฎิสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ หลายคน สอนการทำงาน การใช้งาน software ไปก็หลายคน แต่พบว่า บางคนก็ยังคงทำได้ไม่ถูกต้อง

ตอนแรกก็หงุดหงิดอยู่เหมือนกันนะ แวบแรกที่คิดเลยก็คือ “สอนแล้วทำไมไม่จำ” ดีที่ไม่ได้อยู่กันต่อหน้า ไม่งั้นเราอาจมีการแสดงออกว่าหงุดหงิดได้ ความคิดตอนนั้นก็คือ พักไว้ก่อน ไว้ค่อยคุยกันทีหลัง

แต่พอมานั่งทบทวนอีกที คราวนี้มองเราเป็นคนเรียนบ้าง เราเองก็ได้รับการสอนจากคนอื่นแบบประเภทคุยกัน 2-3 ชั่วโมง รายละเอียดเยอะแยะเต็มไปหมด จบ session คือมึนหัวไปเลย ต้องกลับมาทบทวนอีกที แต่แน่ใจได้ว่า สิ่งที่คนสอน เรารับรู้ได้ไม่ถึงครึ่งแน่นอน

แล้วสิ่งที่เราสอนคนอื่นไปละ พูดครั้งเดียว เราจะคาดหวังให้คนอื่น รู้ จำ และทำได้ถูกต้องเลยตั้งแต่ครั้งแรกเหรอ ไม่แฟร์เลย กลับมาดูตัวเองดีกว่า

  • สอนดีแล้วหรือยัง อธิบายแจ่มแจ้งพอไหม
  • เน้นความสำคัญเพียงพอแล้วหรือไม่ แค่พูด แล้วฟัง อาจไม่พอ ต้องลงมือทดลองทำด้วย
  • คู่มือ เอกสาร แผ่นช่วยเตือนความจำ มีให้เขาหรือเปล่า

มีอะไรที่เราทำได้อีกตั้งเยอะ ที่จะให้คนอื่นจำสิ่งที่เราสอนได้ และทำตามได้ถูกต้อง ปรับที่ตัวเองดีกว่า ทำให้แน่ใจว่าเราได้พยายามเต็มที่ อย่างถึงที่สุดแล้ว ที่จะให้เขาเข้าใจและทำตามได้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องศักยภาพของแต่ละคน

เปลี่ยนตัวเองง่ายที่สุด

คำขวัญปีใหม่ 2558

คำขวัญปีใหม่ 2558 สำหรับตัวเอง

อดทน อดกลั้น อดออม ขยัน ซื่อสัตย์ มีวินัย

ฟังเผินๆ เหมือนคำขวัญวันเด็กเลยเนอะ ได้ยินทางวิทยุสักหนึ่งสัปดาห์ก่อนปีใหม่ แต่ถ้อยคำชุดนี้ก็ติดอยู่ในใจเรื่อยมา ยิ่งคิดตามความหมาย ยิ่งชอบ

คำสั้นๆ ความหมายอาจหลายหลากกันไปตามความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของแต่ละคน

  • อดทน ทนต่อความยากลำบากต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ความลำบากทางกาย รถติด เจ็บไข้ได้ป่วย คือถ้าไม่อดทน ทางเลือกคืออะไร? โวยวายหรือ อะไรบางอย่างมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรก็ไม่ได้แล้ว ก็อดทนกันต่อไป
  • อดกลั้น กลั้นใจไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปทางต่ำ กลั้นกาย อันนี้ไม่ยาก กลั้นปาก อันนี้ลำบากหน่อย แต่ก็พยายาม คืออดกลั้นไม่ทำอะไร หรือพูดอะไร หรือกินอะไรตามใจ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ดี ทำลงไปแล้ว พูดออกไปแล้ว มักจะเสียใจภายหลัง แล้วก็ยั้งไว้เสียก่อนได้ อันนี้คืออดกลั้นสำหรับเรา
  • อดออม อันนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของเงินโดยตรง พอโตขึ้นเริ่มแยกออกแล้วว่า รายจ่ายอันไหนจำเป็น อันไหนเป็นเพราะเราอยากจ่าย หรือสนองตัณหาชั่วครั้งชั่วคราว พอเริ่มเข้าใจเรื่องความคุ้มค่า การอดออมก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก
  • ขยัน ข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องของการใช้เวลาไปกับสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า คือไม่จำเป็นต้องเป็นงาน แต่การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และใช้เวลาลงมือทำกับสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ นั่นคือขยันแล้ว แม้ว่าสิ่งที่เราเองเห็นว่าเป็นประโยชน์ บางคนอาจไม่ได้มองว่ามันเป็นงานก็ได้
  • ซื่อสัตย์ คงเป็นการซื่อสัตย์กับตัวเองสำคัญที่สุด เกณฑ์ความซื่อสัตย์ของแต่ละคนคงแตกต่างกัน ถ้าเคยทำอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองไม่ซื่อสัตย์ (ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม) แต่ตัวเองรู้สึกไม่ภูมิใจที่ได้ทำลงไป ก็บอกตัวเองแล้วกันว่า ต่อไปจะไม่ทำอย่างนั้นอีกแล้ว
  • มีวินัย วินัยเป็นเหมือนแนวทาง เป็นเหมือนเส้นขีดไว้ให้เดิน ไม่ต้องติด ไม่ต้องแตกแถว คิดว่าวินัยช่วยแบ่งเบาภาระการตัดสินใจในแต่ละวันลงไปได้ ไม่ต้องมาคอยนั่งคิดชั่งข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เอาเวลาเอาพลังความคิดไปตัดสินใจเลือกสิ่งที่สำคัญกว่าดีกว่า วินัยน่าจะช่วยให้ใจทำงานน้อยลง

จำไม่ได้แล้วว่าสมัยเด็กๆ เคยเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้อย่างไร แต่ ณ วันนี้ ปี 2558 นี้ เราเข้าใจว่าอย่างนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิต เดินก้าวหน้าต่อไปได้อย่างภาคภูมิใจ

เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน

“To Live, To Love, To Learn, and To leave a legacy” — หนึ่ง quote ที่เราจำได้มาเกือบ 20 ปีแล้ว จากหนังสือ First Things First. มันแทบจะครอบคลุมทุกสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

วันนี้อยากเขียนเรื่องนี้ เพราะเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกวันจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องเทคนิคใหม่ๆ ข่าว ความเป็นไปของสังคมรอบตัว โดยเฉพาะคนใกล้ตัว รู้สึกว่า การได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทำให้วันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันมีความหมาย

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ วันนี้เราเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง?

ประสบการณ์เล่นโยคะครั้งแรก

 เมื่อวานได้มีโอกาสเล่นโยคะเป็นครั้งแรก โดยการชักชวนของภรรยา ความจริงก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปหรอก เตรียมไปว่ายน้ำมากกว่า แต่เดินไปดูแล้วเห็นคนน้อยดี (รวมเรากับแฟนแล้วมีคนเรียน 2 คน ผู้สอนหนึ่งคน เป็นส่วนตัวมากๆ) ก็เอาซักหน่อย

ไปๆ มาๆ เลยเล่นทั้งชั่วโมงเลย สนุกดีเหมือนกัน หลายท่าคล้ายกับท่ายืดกล้ามเนื้อที่เราใช้เป็นประจำก่อนและหลังวิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างกัน คือ การหายใจ

การหายใจนี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเล่นโยคะ เพราะผู้สอนเริ่มและนำการหายใจตลอดทั้งชั่วโมง การควบคุมการหายใจ โดยหายใจเข้าช้าๆ ท้องพอง หายใจออกยาวๆ ท้องยุบ แค่นี้ก็ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้แล้ว และถ้ายิ่งจดจ่อกับการหายใจเป็นหลัก ก็ถือได้ว่าเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งเหมือนกัน

สิ่งที่ชอบสำหรับการเล่นโยคะคือ

  • เป็นการออกกำลังที่ง่าย และทำได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องออกแรงอะไรมากนัก แต่ก็ได้ความผ่อนคลาย ได้เหงื่อนิดหน่อยบ้างเหมือนกัน คนที่ออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นไม่สะดวก การเล่นโยคะน่าจะเป็นทางออกที่ดีอย่างหนึ่ง
  • มีความเป็นส่วนตัวสูง คือไม่ได้ต้องเล่นแข่งกับใคร ต่างคนต่างทำ ใครทำได้หรือทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครว่าอะไร เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบการออกกำลังกายที่ competitive
  • เป็นวิธีที่ดีในการยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ในฐานะนักวิ่ง การเล่นโยคะ ถือว่าเป็น cross training ที่ดีมากอย่างหนึ่ง เพราะหลายท่าจะช่วยยืดและคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการวิ่งได้ดี

ต่อไปว่าจะหาโอกาสไปเล่นอีกบ่อยๆ จะชวนแม่ไปเล่นด้วย

ใครขอโทษก่อน คนนั้นกล้าหาญ

เป็นอีกหนึ่งวันที่เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันกับคนในครอบครัว เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมา ก็คือความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ โมโห ขุ่นมัว ไม่สบายใจ ทั้งหลายทั้งปวง

และถ้าไม่แก้ไข ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นก็จะติดตามเราไปหลายชั่วโมง หรืออาจจะหลายวัน และในช่วงเวลานั้นสิ่งแย่ๆ ทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น เริ่มจากในใจของเราเอง และอาจลุกลามบานปลายไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ครั้งนี้ดีหน่อย รู้ตัวเร็วกว่าเดิม วางหูโทรศัพท์ได้ไม่นาน คุยกับคนข้างตัว ก็เริ่มได้สติ ใจเริ่มเย็นลง แล้วก็ตัดสินใจยกหูโทรศัพท์ โทรกลับไป เพื่อ “ขอโทษ” ขอโทษที่พูดไม่ดี ขอโทษที่ใช้น้ำเสียงไม่ดี ขอโทษที่ทำให้เราต้องทะเลาะกัน

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ความสบายใจทั้งสองฝ่าย เราไม่ได้หาข้อสรุปหรือข้อยุติของต้นเหตุเรื่องที่ทำให้เราทะเลาะกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่สำคัญอะไรเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราไม่ได้ทะเลาะกันอีกต่อไปแล้ว เรายังรักกันเหมือนเดิม

มันต้องใช้ความกล้าหาญอยู่เหมือนกัน ที่จะเป็นฝ่ายเอ่ยปากขอโทษก่อน ไม่ว่าเราจะผิดหรือจะถูก (แต่ใครผิดใครถูก มันก็เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินได้นะ) แต่ผลที่ได้คุ้มค่าเหลือเกิน

ปล. ขอบคุณคนสำคัญข้างตัวที่เตือนสติ